วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

พันธนาคารชาดก


น   ตํ   ทฬฺหํ   พนฺธนมาหุ   ธีรา...
ปุตฺเตสุ   ทาเรสุ   จ   ยา   อเปกฺขา ฯ
เอตํ   ทฬฺหํ   พนฺธนมาหุ   ธีรา
โอหารินํ    สิถิลทุปฺปมุญฺจํ
เอตมฺปิ    เฉตฺวาน   วชนฺติ    ธีรา
อนเปกฺขิโน   กามสุขํ   ปหายาติ ฯ

ความนำ
พระพุทธเจ้าทรงอาศัยพระนครสาวัตถี  ประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน ทรงปรารภนักโทษที่ติดคุกในเรือนจำ  ได้ตรัสพระธรรมเทศนาคือคาถาที่ปรากฏ ณ เบื้องต้น  

ปัจจุบันชาติ
มีเรื่องเล่ามาว่า ในครั้งนั้น พวกราชบุรุษได้จับพวกโจรผู้โหดร้ายคอยชิงทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์นำตัวไปถวายพระเจ้าโกศล พระราชามีรับสั่งให้จองจำพวกโจรเหล่านั้นด้วยเครื่องจองจำคือ ขื่อคา เชือก และโซ่ เป็นต้น
ต่อมา มีภิกษุชาวชนบทประมาณ ๓๐ รูป ประสงค์จะเฝ้าพระบรมศาสดา จึงพากันเดินทางมาเพื่อถวายบังคม รุ่งเช้า ภิกษุทั้งหมดได้ออกบิณฑบาตเดินทางผ่านเรือนจำเห็นพวกโจรเหล่านั้นกำลังถูกจองจำอยู่ เมื่อกลับจากบิณฑบาต ในเวลาเย็นได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์และได้กราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ พวกข้าพระพุทธเจ้ากำลังออกบิณฑบาตได้พบพวกโจรมากมายถูกจองจำด้วยขื่อคาเป็นต้นในเรือนจำได้รับทุกขเวทนามากมาย พวกโจรเหล่านั้นไม่สามารถจะตัดทำลายเครื่องจองจำเหล่านั้นแล้วหนีไปได้เลย ในโลกนี้ยังจะมีเครื่องจองจำ  อื่นที่ยังมั่นคงกว่าเครื่องจองจำเหล่านี้อีกหรือไม่ พระเจ้าข้า”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เครื่องจองจำเหล่านั้นจะชื่อว่าเป็นเครื่องจองจำได้อย่างไรกัน ส่วนเครื่องจองจำคือกิเลสได้แก่ ตัณหาในทรัพย์ ข้าวเปลือก             บุตรภรรยา เป็นต้น ทั้งหมดนี่แหละมั่นคงยิ่งกว่าเครื่องจองจำเหล่านั้นตั้งร้อยเท่าพันเท่า               แต่เครื่องจองจำเหล่านั้นแม้จะใหญ่หลวงตัดได้ยากเพียงใด  ก็เคยมีบัณฑิตในสมัยก่อนผู้สามารถตัดได้แล้วหนีไปบวชที่หิมวันตประเทศ” 
จากนั้น ได้ทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าให้ฟังดังต่อไปนี้

อดีตชาติเนื้อหาชาดก
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี ได้มีคหบดียากจนตระกูลหนึ่ง เมื่อเขาโตขึ้นบิดาได้ถึงแก่กรรมลง เขาได้ประกอบอาชีพรับจ้างเลี้ยงดูมารดาผู้แก่ชรา 
ต่อมา มารดาได้ไปขอธิดาจากตระกูลหนึ่งมาให้บุตรชายทั้ง ๆ ที่เขาไม่มีความต้องการแต่อย่างใด เวลาผ่านไป มารดาก็ตายจากเขาไปอีกคนหนึ่ง
ไม่นานนัก ภรรยาของเขาก็ตั้งครรภ์ เขาไม่รู้ว่าภรรยากำลังตั้งครรภ์จึงบอกนางว่า                 “น้องเอ๋ย น้องจงรับจ้างเขาเลี้ยงตนเองเถิด พี่จักไปบวช” 
นางได้ฟังก็ตกใจรีบบอกสามีทันทีว่า “พี่จ๋า น้องกำลังตั้งท้อง เอาไว้ให้น้องคลอดลูกแล้ว พี่ได้เห็นหน้าลูกแล้วค่อยบวชเถิด”
สามีจึงอดทนรอคอย ในที่สุด นางก็ได้คลอดลูก เมื่อเขาจะลานางออกบวชอีก           นางก็เหนี่ยวรั้งเขาไว้ด้วยการบอกว่า “พี่จ๋า อย่าพึ่งบวชเลย เอาไว้ให้ลูกของเราหย่านมก่อนเถิด” ไม่นานนัก นางก็ตั้งครรภ์ลูกคนที่ ๒ อีก
ฝ่ายสามีจึงคิดในใจว่า ถ้าเราบอกลา นางคงผัดผ่อนไปเรื่อย ๆ จนลูกโตเป็นหนุ่มเราก็คงไม่ได้บวชเสียที เราควรหนีไปบวชจะดีกว่า พอตกกลางคืน ในขณะที่นางกำลังหลับอยู่ก็หนีออกไปบวชทันที
ครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลพระนครจับตัวเขาไว้ได้ เขาจึงบอกว่า “เจ้านายครับ              ผมเป็นคนเลี้ยงดูบิดามารดา โปรดปล่อยผมไปเถิด” เมื่อถูกปล่อยตัว เขาก็รีบออกไปทางประตูใหญ่ที่เปิดแล้วมุ่งหน้าเข้าไปในป่าหิมพานต์บวชเป็นฤาษีทำฌานและอภิญญาให้บังเกิด                  มีความสุขเพลิดเพลินอยู่ในฌาน
ฤาษีเมื่ออยู่ในที่นั้นได้เปล่งอุทานว่า “เราได้ตัดเครื่องจองจำคือบุตรภรรยาอันเป็นเครื่องจองจำที่ตัดได้ยากเหลือเกิน” จากนั้นได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า

เครื่องผูกอันใดที่ทำด้วยเหล็กก็ดี
ทำด้วยไม้ก็ดี ทำด้วยหญ้าปล้องก็ดี 
นักปราชญ์ทั้งหลายไม่กล่าวเครื่องผูกนั้นว่า 
เป็นเครื่องผูกอันมั่นคง  ส่วนความกำหนัดยินดี
ในแก้วมณีและกุณฑลก็ดี ความห่วงใยในบุตรและภรรยาก็ดี
นักปราชญ์กล่าวเครื่องผูกนั้นว่า เป็นเครื่องผูกอันมั่นคง
ที่ทำให้สัตว์ต้องตกต่ำ ย่อหย่อน แก้ได้ยาก แม้เครื่องผูกนั้น
นักปราชญ์ก็ตัดได้ไม่มีความห่วงใย ละกามสุข หลีกออกไปได้

ความหมายของคาถา
ฤาษีได้เปล่งอุทานเพื่อต้องการอธิบายให้ทราบดังนี้ว่า นักปราชญ์ผู้ตัดเครื่องผูกที่ตัดได้ยากก็คือ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระสาวกของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย
เครื่องจองจำในโลกนี้เป็นเครื่องจองจำได้แต่เพียงกายเท่านั้น แต่ไม่สามารถขังใจที่มุ่งแสวงหาเสรีภาพได้ ส่วนเครื่องจองจำคือกิเลสนั้นแม้เกิดขึ้นคราวเดียวด้วยอำนาจแห่งตัณหาและโลภะย่อมแก้ให้หลุดได้ยากเหลือเกินเหมือนเต่าไม่สามารถดิ้นหลุดจากเครื่องผูกได้เลย
ส่วนนักปราชญ์ทั้งหลายตัดเครื่องจองจำคือกิเลสเหล่านั้นได้ด้วยพระขรรค์คือญาณ ตัดห่วงเหล็กเหมือนช้างตกมันสลัดโซ่ที่พันธนาการ เหมือนราชสีห์หนุ่มทำลายซี่กรงที่ขังตนไว้ รังเกียจวัตถุกามและกิเลสกาม เหมือนรู้สึกขยะแขยงพื้นที่เต็มไปด้วยของสกปรก ไม่มีความห่วงใยละกามสุขออกไปบวชเป็นฤาษีในป่าหิมพานต์ทำตนให้มีความสุขอันเกิดจากฌาน
ฤาษีนั้นครั้นเปล่งอุทานอย่างนี้แล้วมีฌานไม่เสื่อมมีพรหมโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

ประชุมชาดก
      พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ในเวลาจบสัจธรรม ภิกษุบางพวกได้เป็นโสดาบัน จนถึงอรหันต์ ทรงประชุมชาดกว่า  “มารดาในครั้งนั้นได้เป็นพระนางมหามายาเทวีในครั้งนี้ บิดาได้เป็นพระเจ้าสุทโธทนะมหาราช ภรรยาได้เป็นมารดาพระราหุล ส่วนบุรุษผู้ละบุตรและภรรยาออกบวชคือตัวเราตถาคตนั้นเอง”

วันศุกร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ออกบวชเพราะผมหงอกเส้นเดียว (มฆเทวชาตกํ)


อุตฺตมงฺครุหา มยฺหํ     อิเม  ชาตา  วโยหรา
ปาตุภูตา  เทวทูตา ปพฺพชชาสมโย  มมาติฯ 
                                                  
ความนำ
                        พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในวัดพระเชตวัน ใกล้เมืองสาวัตถี ทรงปรารภการออกผนวชของพระองค์เอง ได้ตรัสพระธรรมเทศนาคือคาถาที่ปรากฏ ณ เบื้องต้น

ปัจจุบันชาติ
มีเรื่องเล่าว่า บรรดาภิกษุทั้งหลายได้นั่งสนทนากันอยู่ปรารภถึงการเสด็จออกบวชของพระพุทธเจ้า ในขณะนั้น พระพุทธองค์เสด็จมาถึงโรงธรรมสภาเมื่อทราบเรื่องจึงตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตจะออกบวชเฉพาะในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้ แม้ในกาลก่อน ตถาคตก็ได้ออกบวชแบบนี้เหมือนกัน
จากนั้น ได้ทรงนำเรื่องราวในอดีตชาติมาตรัสเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้

อดีตชาติเนื้อหาชาดก
                        อดีตกาล มีพระราชาพระนามว่า มฆเทวะ ในกรุงมิถิลาวิเทหรัฐ   เป็นพระมหาธรรมราชาผู้ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม วันหนึ่ง พระองค์ได้ทรงตรัสสั่งกับช่างกัลบกว่า
ถ้าท่านเห็นผมหงอกงอกขึ้นบนศีรษะของเราในกาลใด ขอให้ท่านจงบอกแก่เราในกาลนั้น
ต่อมา ช่างกัลบกได้พบพระเกศาหงอกเส้นหนึ่งจึงกราบทูลว่า
ข้าแต่สมมติเทพ พระเกศาหงอกเส้นหนึ่งปรากฏแก่พระองค์แล้ว
ช่างกัลบกได้เอาแหนบทองคำถอนพระเกศาหงอกเส้นนั้นมาประดิษฐานบนฝ่าพระหัตถ์ของพระราชา
                พระราชาเมื่อทอดพระเนตรพระเกศาหงอก ทรงทำความสำคัญประหนึ่งว่า            พระยามัจจุราชมาประทับยืนอยู่ใกล้ ๆได้ทรงถึงความสังเวชดำริว่า ดูก่อนมฆเทวะผู้โง่เขลา เจ้ายังไม่สามารถละกิเลสได้แม้แต่นิดเดียวจนตราบเท่าที่ผมหงอกเกิดขึ้น
 เมื่อพระองค์ทรงรำพึงถึงผมหงอกที่ปรากฏแล้ว ความเร่าร้อนภายในก็บังเกิดขึ้น พระองค์ทรงดำริว่า เราสมควรจะต้องออกบวชในวันนี้แหละ
จึงทรงพระราชทานบ้านชั้นดีแก่ช่างกัลบกแล้วรับสั่งให้เรียกพระโอรสองค์ใหญ่มาตรัสสั่งว่า
ลูกเอ๋ย ผมหงอกได้ปรากฏบนศีรษะของพ่อแล้ว พ่อได้กลายเป็นคนแก่ไปแล้ว กามคุณของมนุษย์พ่อได้เสพมาหมดแล้ว บัดนี้ พ่อจักแสวงหากามที่เป็นทิพย์ ถึงเวลาที่พ่อจักต้องอำลาเจ้าออกบวชแล้ว ขอเจ้าจงได้ครอบครองราชสมบัตินี้เถิด พ่อจักบำเพ็ญสมณธรรม          ในอัมพวันอุทยานชื่อมฆเทวะ
                        เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายเข้าไปเฝ้าพระราชาแล้วกราบทูลถามว่า
ขอเดชะ อะไรกันหนอเป็นสาเหตุแห่งการสละกามออกทรงผนวชของพระองค์ พระเจ้าข้า
พระราชาจึงทรงถือเอาพระเกศาหงอกเส้นนั้นออกมาแสดงแล้วตรัสพระคาถานี้แก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า

ผมที่หงอกบนศีรษะของเรานี้เกิดขึ้นมา
ได้นำเอาวัยของเราไปเสียแล้ว ตัวเทวทูต ได้มา
ปรากฏแก่เราแล้ว บัดนี้ เป็นเวลาที่ตัวเราจะต้อง
ออกทำการบรรพชาเสียที
ความหมายของคาถา
พระราชาต้องการตรัสสอนเหล่าบรรดาโอรสเป็นต้นว่า
เธอทั้งหลายจงพิจารณาดูเถิด ผมหงอกเหล่านี้เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ได้ชื่อว่าพาเอาวัยหนุ่มไปแล้ว เพราะปรากฏให้เห็นโดยภาวะแห่งผมหงอก ตัวมัจจุราชนั้นได้ชื่อว่าเทวทูต             อันที่จริง เมื่อผมหงอกทั้งหลายปรากฏขึ้นบนศีรษะ บุคคลย่อมเป็นเหมือนยืนอยู่ในสำนักของ     พระยามัจจุราช  เพราะฉะนั้น ผมหงอกทั้งหลายท่านจึงเรียกว่าเป็นทูตของมัจจุราช
ข้อนี้ก็เปรียบเหมือนกับเทวดาที่ตกแต่งร่างกายสวยงามยืนสว่างไสวในอากาศแล้วกล่าวว่า ท่านจักต้องตายในวันนั้น วันนี้ ฉันใด เมื่อผมหงอกทั้งหลายปรากฏแล้วบนศีรษะย่อมเป็นเช่นกับเทวดาพยากรณ์ฉันนั้นเหมือนกัน
                   พระเจ้ามฆเทวะสละราชสมบัติออกบวชเป็นฤาษีในวันนั้นนั่นเอง ประทับอยู่ในมฆอัมพวัน เจริญพรหมวิหาร ๔ ดำรงอยู่ในฌานอันไม่เสื่อม สวรรคตแล้วบังเกิดในพรหมโลก จุติจากพรหมโลกนั้น ได้เป็นพระราชานามว่าเนมิ ในกรุงมิถิลาสืบต่อวงศ์ของพระองค์ที่เสื่อมลงจึงทรงผนวชในอัมพวันนั้นนั่นเอง เจริญพรหมวิหารได้กลับไปเกิดในพรหมโลกตามเดิมอีก                 พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า  
ช่างกัลบกคือพระอานนท์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่คือราหุล ส่วนพระเจ้ามฆเทวะคือเราตถาคตนั่นเอง

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

สุขวิหารีชาดก ชาดกว่าด้วยสุขอันเกิดจากการบรรพชา


สถานที่ตรัสชาดก
อนุปิยอัมพวัน แขวงเมืองอนุปิยนคร

สาเหตุที่ตรัสชาดก
หลังจากที่เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชแล้ว พระภัททิยะ พระอนุชา ได้เสด็จเสวยราชสมบัติกรุงกบิลพัสดุ์สืบต่อสันตติวงศ์ แวดล้อมอยู่ด้วยราชองครักษ์ผู้ถวายอารักขาอย่างแน่นหนาและใกล้ชิด แต่ยังพระปริวิตกต่อภยันตรายอันจะพึงเกิดจากการประทุษร้ายอยู่เนืองนิจ มิเคยมีความสงบและเป็นสุขเลย

เมื่อออกผนวชในพระพุทธศาสนา ได้บำเพ็ญเพียรจนหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ พระเถระเดินทางภิกขาจารไปทุกหนทุกแห่งโดยลำพัง แต่มีปีติและสุข ด้วยไม่ข้องอยู่กับอิสริยยศและอันตราย จึงเปล่าอุทาน “สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ”

พระภิกษุทั้งหลายผ่านมาได้ยินเข้าจึงติเตียน และไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ได้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงระลึกชาติแต่หนหลัง ด้วยบุพเพนิวาสานุสติญาณ แล้วตรัสแก่พระภิกษุทั้งหลายว่า

“ ท่านภัททิยะมิได้เปล่งวาจาออกมา เพราะอาลัยในราชสมบัติกรุงกบิลพัสดุ์ และก็มิใช่ต้องการอวดอ้างความเป็นพระอรหันต์ ดังที่พวกเธอทั้งหลายหลงเข้าใจหรอก นี่คือปกตินิสัยที่ท่านมีมาแต่ชาติปางก่อน ”

พระภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลอาราธนาให้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเล่าเรื่องราวให้ฟัง

เนื้อหาชาดก
สมัยหนึ่ง พระเจ้าพรหมทัต ครองกรุงพาราณสี มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อ อุทิจจะ เป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องมาก เป็นที่นับถือยกย่อง มีลูกศิษย์มาก ได้พิจารณาเห็นโทษของการครองเรือน และเห็นอานิสงส์ของการออกบวช จึงนำทรัพย์ออกแจกจ่ายเป็นทาน แล้วไปอยู่ในป่าหิมพานต์ บวชเป็นฤาษี ฝึกสมาธิจนได้ณานโลกีย์บรรลุสมาบัติ ๘ มีลูกศิษย์ ๕๐๐ คน เป็นบริวาร

ในช่วงฤดูฝนไม่เหมาะแก่การเจริญภาวนา ฤาษีอาจารย์จึงพาศิษย์เข้ามาพำนักในเมือง พระเจ้ากรุงพาราณสี จึงพระราชทานพระราชอุทยานให้เป็นสถานที่บำเพ็ญภาวนา เมื่อสิ้นฤดูฝน พระเจ้าพาราณสีเห็นว่า พระฤาษีอาจารย์นั้นชราภาพมากแล้วจึงอาราธนาให้ท่านพำนักอยู่ต่อ ส่วนลูกศิษย์ก็ให้กลับไปบำเพ็ญเพียรในป่าหิมพานต์กันเองตามลำพัง

วันหนึ่งศิษย์คนโตรู้สึกคิดถึงอาจารย์ จึงเดินทางไปเยี่ยมเยียนอาจารย์ ขณะศิษย์คนโตลงนอนในสำนักพระอาจารย์ พระเจ้าพรหมทัตได้เสด็จมาถึงเพื่อกราบมนัสการฤาษีอาจารย์เช่นกัน ฤาษีผู้เป็นศิษย์แม้จะเห็นพระเจ้าพรหมทัต ก็มิได้ลุกขึ้นทำการต้อนรับตามมารยาทอันดีแต่ประการใด กลับนอนเฉยเสีย ซ้ำยังเปล่งอุทานออกมาอีกว่า “ สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ ”

พระเจ้าพรหมทัตทอดพระเนตรแล้ว รู้สึกขัดเคืองพระทัยจึงตรัสถามพระฤาษีอาจารย์ว่า “ ข้าแต่พระผู้เจริญ ดาบสผู้นี้ เห็นทีจะฉันจนอิ่มหนำสำราญมากเสียแล้ว จึงคร้านที่จะลุกขึ้น ได้แต่นอนเปล่งอุทานสบายอารมณ์อยู่อย่างนี้ ”

พระฤาษีอาจารย์จึงตอบว่า ศิษย์ผู้นี้เดิมก็เป็นกษัตริย์ แต่ที่อุทานออกมาเช่นนี้ ไม่ใช่เพราะอิ่มจัด ไม่ใช่เพราะต้องการกลับไปแสวงหาความสุขจากราชสมบัติ แต่คิดว่าการออกบวชนั้นเป็นสุขจริง ๆ สุขยิ่งกว่าการเป็นกษัตริย์ เป็นสุขสองชั้น

กล่าวคือ สุขที่ไม่ต้องหวาดผวาจากการถูกปองร้าย สุขที่ไม่ต้องมีภาระดูแลราชการบ้านเมือง และไม่ตกเป็นภาระแก่ใคร ๆ ให้ต้องคอยปกป้องอารักขาความปลอดภัย นับเป็นสุขชั้นแรก อนึ่งสุขจากการบรรลุธรรมเป็นสุขอันเลิศ ที่ไม่ต้องอาศัยบุคคลและวัตถุใด ๆ นับเป็นสุขชั้นที่สอง เพราะเหตุนี้ จึงเปล่งอุทานอยู่เสมอ ๆ ว่า “สุขจริงหนอ สุขจริงหนอ”

พระเจ้ากรุงพาราณสีสดับพระธรรมเทศนาด้วยใจที่เบิกบานแช่มชื่น เข้าพระทัยแล้วก็มิได้ถือโกรธดาบสผู้นั้น ดาบสผู้ศิษย์เองก็กราบลาพระอาจารย์กลับสู่ป่าหิมพานต์บำเพ็ญเพียรต่อไป ส่วนพระอาจารย์ได้พำนักอยู่ ณ พระราชอุทยานจนสิ้นอายุขัย เมื่อละโลกไปแล้วได้ไปบังเกิดในพรหมโลก ด้วยอำนาจณานสมาบัติ

ประชุมชาดก
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมชาดกว่า
ศิษย์ผู้เป็นหัวหน้า ได้เกิดมาเป็นภัททิยะ
พระฤาษีอาจารย์ ได้เกิดมาเป็นพระองค์เอง

ข้อคิดจากชาดก
บุคคลแม้มีจิตใจใสสะอาด แต่กิริยามารยาทยังสำรวมระวังไม่พอ ก็อาจมีผู้เข้าใจผิด คิดเป็นศัตรูได้ โบราณจึงเตือนว่า
“ อยู่คนเดียวให้ระวังความคิด อยู่กับมิตรให้ระวังวาจา
อยู่ท่ามกลางปวงประชา ให้ระวังทั้ง กาย วาจา ใจ ”

credit : kalyanamitra.org